วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไทม์แชร์ริ่งกับคดีฉ้อโกงประชาชน/shared by ศุภรักษ์ เจริญรักษ์


          จากกรณีที่สคบ.จะจัดทำข้อกฎหมายเกี่ยวกับควบคุมธุรกิจให้บริการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวล่วงหน้าระยะยาว (ไทม์แชร์) ให้เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาของ สคบ. หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการที่ชักจูงให้ชำระเงินค่าห้องพักของโรงแรมและรีสอร์ทต่าง ๆ ล่วงหน้า แต่เมื่อต้องการเข้าพักกลับไม่มีห้องพักให้ เข้าข่ายหลอกลวงอย่างแท้จริง
            ทนายคลายทุกข์ขอนำกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีธุรกิจขายตรงหรือเจ้าของโรงแรมรีสอร์ทที่ทำธุรกิจบังหน้า แต่เบื้องหลังคือการระดมทุนหลอกลวงประชาชน ทุกวันนี้นับวันจะมากขึ้น ตัวผมเองเคยทำคดีประเภทแชร์ลูกโซ่มาหลายคดี จึงขอให้คำแนะนำในการสังเกตธุรกิจไทม์แชร์ริ่งหรือแชร์ลูกโซ่ เป็นข้อๆ ดังนี้
1.สำนักงานจะหรูหรา ส่วนใหญ่นิยมใช้อาคารสูง โดยเฉพาะย่านรัชดาภิเษก สีลม เป็นต้น
2.จะมีห้องประชุมจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการต้มตุ๋นหลอกลวงประชาชน ผิดวิสัยของธุรกิจทั่วไปที่มีห้องประชุมเพียงห้องเดียวหรือสองห้องเท่านั้น
3.พนักงานทั้งบริษัทจะใส่สูท ผูกเทคไท ทาน้ำมันใส่ผมดูแล้วเนี๊ยบ ผิดวิสัยจากธุรกิจทั่วไป พนักงานทั่วไปจะไม่ใส่สูท จะใส่สูทเฉพาะผู้บริหารเท่านั้น แต่พวกนี้จะใส่สูททั้งบริษัทเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือและมีระดับ
4.ทุกคนจะพบนามบัตรที่มีลักษณะแปลก ๆ เว่อร์ๆ เช่น มีรูปรถเบนซ์อยู่ในนามบัตร และระบุตำแหน่งตัวเองว่าเป็นกรรมการหรือ ผอ. หรือผจก. ดูแล้วใหญ่มีระดับ ทั้งที่เป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น
5.เวลาสนทนาด้วยจะพูดถึงเรื่องเงินเป็นหลัก เช่น พูดว่าเมื่อเคยขับแท็กซี่ เดี๋ยวนี้มีรายได้เดือนละล้าน แค่ตัดสินใจเอาเงินมาลงทุน ชั่วข้ามคืนรวยในพริบตา
6.อยู่เฉย ๆ ก็รวยได้  เป็นคำพูดของพวกต้มตุ๋นเหล่านี้ เพียงแต่คุณไปหลอกลวงต้มตุ๋น ญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดมาให้พวกเราเชือด แค่นี้ก็รวยแล้ว (ตายไปแล้วจะไปอยู่ในนรกขุมไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง)
7.จะพกภาพถ่ายบ้านหลังใหญ่ราคาหลายล้าน รวมทั้งภาพการเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลก แสดงถึงความมั่งคั่ง เพื่อยั่วกิเลสเหยื่อที่ถูกเชิญมาฟังบรรยาย หากงับเบ็ด ก็เสียเงินทันที
8.จะจ้างพวกพูดเก่ง ๆ พูดแล้วแม้กระทั่งลิงยังหลับตกต้นไม้ บริการหรือสินค้าไม่ค่อยพูดถึง พูดแต่เพียงว่าคุณรวยแน่ เพียงแค่ตัดสินใจจ่ายเงินในวันนี้เพื่อเป็นสมาชิกกับเรา บริษัทพวกนี้มันจะจ้างพวกฝีปากดี กล่อมอยู่หมัดและบังคับให้ตัดสินใจทันที  ไม่มีเวลาตั้งตัว มารู้อีกทีก็หมดตัวไปแล้ว
9.สินค้าและบริการจะแพงเกินเหตุ สูงกว่าราคาสินค้าจริง อาจจะ 100-200% อันเป็นการหลอกลวงประชาชน
10.ไม่เน้นการขายสินค้าหรือบริการเน้นหลอกลวงเก็บเงินอย่างเดียว
11.แอบอ้างคนดังเป็นเจ้าของหรือคนดังมาร่วมธุรกิจด้วยหรือแอบอ้างชื่อโรงแรมขนาดใหญ่ ฟังดูแล้วโก้ เช่น ชื่อคล้ายกับแหล่งท่องเที่ยวในเมดิเตอร์เรเนี่ยน หรือรีสอร์ทหรูระดับโลก ลูกค้าฟังแล้วเคลิ้มต้องรับตัดสินใจเสียเงินให้คนพวกนี้
ตัวบทกฎหมายที่จะจับพวกนี้เข้าคุกหรือดำเนินคดีตามกฎหมาย
พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527
มาตรา 4  ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ผู้ใดไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ดำเนินการ หรือให้พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลใดดำเนินการโฆษณา ประกาศหรือชักชวนประชาชนให้ลงทุน โดย
(1) ซื้อหรือขายเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งหรือหลายสกุล หรือ
(2) เก็งกำไรหรืออาจจะได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย
มาตรา 5  ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้
(1) ในการกู้ยืมเงินหรือจะกู้ยืมเงิน
(ก) มีการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป หรือโดยการแพร่ข่าวด้วยวิธีอื่นใด หรือ
(ข) ดำเนินกิจการกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ หรือ
(ค) จัดให้มีผู้รับเงินในการกู้ยืมเงินในแหล่งต่าง ๆ หรือ
(ง) จัดให้มีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไปชักชวนบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้มีการให้กู้ยืมเงิน หรือ
(จ) ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเกินสิบคนซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และ
(2) ผู้นั้น
(ก) จ่าย หรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน จะพึงจ่ายได้ หรือ
มาตรา 12 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น